นางละเวงวัลฬา : ลดทิฐิมานะด้วยแรงรัก
ที่ยอดบนของต้นไม้ มีใบเขียวชอุ่ม พลิกพลิ้วไหวไปตามแรงลมไล่ลำต้นต่ำลงมามีสะเก็ดเปลือกไม้ขรุขระ คือ ความจริงที่ว่า ของอ่อนอยู่ข้างบน ของแข็งอยู่ข้างล่าง ดุจเดียวกันกับ คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนไม่ถือตัว แม้อยู่ในที่ต่ำแต่ใจก็สูง”
จากคำกล่าวข้างต้น เปรียบประดุจได้ดั่งคนมีทิฐิมานะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนใจแข็งจนสามารถหยาบกระด้างได้ หากไม่มีสิ่งใดมากล่อมเกลาจิตใจแต่ความมีทิฐิมานะจะให้เพียงผลร้าย หากรู้พอเหมาะพอควรก็เกิดผลดีได้เช่นกัน เปรียบเช่นเดียวกับนางในวรรณคดีนางหนึ่ง ซึ่งกอปรด้วยทิฐิมานะและความใจแข็ง แต่ก็สามารถยั้งคิดได้ในภายหลัง นั่นก็คือนางละเวง ในเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่
นางละเวง เป็นหญิงฝรั่ง ธิดาของกษัตริย์เมืองลังกา และเป็นน้องสาวของอุศเรนผู้เป็นคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี นางต้องสูญเสียบิดาและพี่ชายไปในสงครามสู้รบระหว่างเมืองลังกาและเมืองผลึก เพื่อแย่งชิงนางสุวรรณมาลีกลับคืนจากพระอภัยมณี แม้นางละเวงจะเสียใจจนคิดที่จะฆ่าตัวตายตามพ่อและพี่ชายไป แต่ด้วยความแค้นและภาระที่บ้านเมืองกำลังขาดผู้นำ นางจึงขึ้นครองเมืองลังกาแทนบิดา และตั้งใจแน่วแน่ที่จะ แก้แค้นแทนบิดาและพี่ชายให้จงได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของความทิฐิมานะที่ก่อเกิดในใจนาง ทำให้บทบาทของนางละเวงในเรื่องนี้ ค่อนข้างแปลกกว่าตัวผู้หญิงในเรื่องอื่นๆ คือมีลักษณะเป็นนางเอกและผู้ร้ายก้ำกึ่งกัน
ในตอนต้นนางทำศึกโดยการใช้เล่ห์กลอุบายตามคำแนะนำของบาทหลวง ทั้งนี้ด้วยความแค้นที่พ่อและพี่ชายถูกฆ่าตายด้วยฝีมือชาวเมืองผลึก แม้ว่าความพยายามของนางในตอนต้นๆ จะไม่ได้ผลเต็มที่ นางก็ไม่ละความพยายาม จนกระทั่งพระอภัยมณียกทัพข้ามไปราวีกรุงลังกาเสียเองทั้งๆ ที่มีความเกลียด ความโกรธ ความอาฆาตแค้นอยู่เต็มอก แต่พอนางได้พบหน้า และต่อปากต่อคำกับพระอภัยมณีศัตรูคนสำคัญเพียงครั้งเดียว นางก็เริ่มจะเรรวนไปข้างเสน่หาพระอภัยมณี แต่ด้วยความทึ่เป็นเจ้าเมืองลังกาและทิฐิในใจ นางละเวงจึงยอมตัดใจไม่เกี่ยวข้องกับพระอภัยมณีเป็นอันขาดแต่จะยกกองทัพกลับมาต่อสู้ให้ชนะให้จงได้ การที่จะทำศึกกับคนที่ตนรักนั้นไม่ใช่ของง่ายเลย ซึ่งนางละเวงเองก็ทรมานใจ เพราะในฐานะของตนที่ต้องปกครองบ้านเมือง ย่อมสลักสำคัญกว่าความรักของตนซึ่งเป็นความสุขส่วนตัว
แม้นางละเวงจะเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เมื่อแรกนั้นไม่มีความรู้ในด้านการปกครองประเทศและการศึกสงคราม เมื่อนางทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ ซึ่งเป็นภาระอันใหญ่หลวง แต่นางทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะความเพียรพยายามของนางที่เริ่มต้นศึกษากลศึกตั้งแต่เริ่มต้น นางเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความผาสุกของประชาราษฎร์ แต่นางเองก็ไม่เคยย่อท้อที่จะละทิ้งตำแหน่งและหันกลับไปใช้ชีวิตสุขสบายเยี่ยงหญิงสาวทั่วไป นางตระหนักอยู่เสมอว่า นางมีหน้าที่ต้องปกป้องชาติและศาสนาของตน ดังนั้น เราควรดูนางเป็นแบบอย่าง ในการรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีความพยายาม เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ
แต่ในมุมหนึ่ง ด้วยลักษณะนิสัยและการดำเนินชีวิตที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของนางละเวงนั้นสามารถนำมาดัดแปลงเป็นแง่คิดและแบบอย่าง เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้ นั่นคือคติที่ได้จากความมีทิฐิมานะและแข็งของนางละเวงเอง
จะเห็นได้ว่า นางละเวงเป็นผู้มีทิฐิมานะและใจแข็ง ซึ่งลักษณะนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในจิตของนาง คือนางหลงรักพระอภัยมณี ซึ่งถือเป็นศัตรูของนาง จนเกือบที่จะทำให้นางต้องทุกข์ใจและสูญเสียคนรักไป เพราะความมีทิฐิของนาง แต่ในที่สุดนางก็พ่ายแพ้ต่อความรัก ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจทำตามความปรารถนาของตนที่ถูกต้อง หากนางไม่ทำเช่นนี้แล้ว นางละเวงก็จะสูญคนรักและไม่มีความสุขในชีวิต ดังนั้น จะเห็นว่าการมีทิฐิมานะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นและไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาที่ดี ต้องตัดสินใจโดยใช้ความคิดที่รอบคอบ
แต่ใช่ว่า ความใจแข็งของนาง จะก่อให้เกิดผลเสียเพียงอย่างเดียว ความใจแข็งก็มีส่วนให้นางสามารถควบคุมความรู้สึกตนเองได้ โดยจะเห็นได้ว่านางละเวงเป็นตัวละครหญิงเพียงคนเดียวในวรรณคดีไทยที่ร่วมหลับนอนกับตัวละครชาย โดยไม่สูญเสียพรหมจรรย์ เพราะนางสามารถควบคุมธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นข้อคิดและบทเรียนให้ผู้หญิงได้ว่า หากเรารู้จักระงับและควบคุมอารมณ์ รวมทั้งใจแข็งในเรื่องนี้แล้วนั้น ปัญหาการชิงสุกก่อนห่ามในสังคมไทยปัจจุบันก็จะลดลง
ความผิดพลาดอาจก่อเกิดจากหนทางของความมีทิฐิ แต่ในทางกับกัน ความมีทิฐิย่อมทำให้เรายั้งคิดและไม่ก่อความผิดพลาดนั้นได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากบทบาทของนางละเวง แต่บทบาทของนางในวรรณคดีไทยนั้นมีมากมายนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้อ่านเองด้วยว่า ควรจะวิเคราะห์และยึดคติใดมาใช้ในชีวิตประจำวัน และในสังคมที่วุ่นวายเพื่อลดปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสม
โดย : นายจิตรกร หันจางสิทธิ์ ครูภาษาไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น