16 กันยายน 2553

พิธีขอฝน

คนไทยในสมัยก่อน คงจะคุ้นหูกับเพลงที่มีเนื้อร้องที่ว่า “ฝนเอยทำไมจึงตก  จำเป็นต้องตกเพราะว่ากบมันร้อง  กบเอยทำไมจึงร้อง  จำเป็นต้องร้องเพราะว่าท้องมันปวดฯ” เป็นบทร้องที่บ่งบอกเหตุและผล  การเกิดของธรรมชาติ บางครั้ง ธรรมชาติเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป  ด้วยเหตุและปัจจัยหลายประการทำให้เกิดฝนฟ้าไม่ตกเป็นปกติอย่างที่เคยเป็น จึงเกิดวัฒนธรรมในการวิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือทำในสิ่งที่แปลกๆ เพื่อให้เกิดความไม่พอใจต่อสิ่งที่ตนศรัทธาแล้วจะบันดาลให้ฝนตกได้ จึงเกิดวัฒนธรรมการขอฝนขึ้น
พิธีการขอฝนนั้นใช่จะมีเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น ประเทศที่มีความเจริญแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีวัฒนธรรมการขอฝนเช่นเดียวกัน  คนญี่ปุ่นแถบตำบล ฮิตาคิ ใช้วิธีการขอฝน คือ ไปขอน้ำศักดิ์สิทธิ์จากศาลราอิชิน ตักน้ำใส่กระบอกแล้วนำกลับบ้าน หยุดพักไม่ได้เพราะถ้าหยุดตรงไหน เชื่อกันว่าฝนจะตกตรงนั้น
ส่วนที่อินเดียโบราณ สมัยพระเวสสันดรเกิดฝนแล้งในกลิงครัฐ ข้าวยากหมากแพง เกิดโจรกรรมวุ่นวาย พระราชาต้องสมาทานศีลเจ็ดวัน แต่ฝนก็ยังไม่ตก ที่สุดต้องไปขอช้างปัจจัยนาค จากพระเวสสันดร เพราะเชื่อว่าช้างเชือกนี้อยู่ที่ไหนฝนก็จะตกที่นั่น  นี่ก็เป็นวิธีขอฝนตามความเชื่อของแต่ละประเทศ
วัฒนธรรมการขอฝนของไทยนั้นก็มีหลายอย่างแล้วแต่ท้องถิ่น  เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น แต่ที่รู้จักและนิยมกันทั่วไป คือ การแห่นางแมว  วิธีการ คือการเอาแมวใส่กรง แล้วแห่ไปทั่วหมู่บ้าน ขณะที่แห่ไปก็ร้องว่า “นางแมวเอ๋ยขอฟ้าขอฝนขอน้ำมนต์รดหัวนางแมว” เมื่อผ่านไปบ้านไหน    คนในหมู่บ้านก็จะใช้น้ำสาดไปที่กรงแมวเป็นสัญลักษณ์แทนฝนตก ซึ่งนับว่าเป็นการทรมานสัตว์อย่างมาก  เป็นการทำที่ไม่ถูกต้องเทพเจ้าก็จะโกรธ และบันดาลให้  ฝนตกลงมาเพื่อเป็นการทำโทษ
แต่เมืองไทยสมัยนี้ วัฒนธรรมการแห่นางแมวเกือบจะหมดไปแล้ว เพราะเรามีพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงบังคับให้ฝนตกได้ตามพระราชประสงค์ โดยทรงใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ คือการทำฝนหลวง ทำให้ฝนตกลงมาตามต้องการเพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งของบ้านเมือง  เป็นที่ประจักษ์แก่คนไทยและคนทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ พสกนิกรของชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้
สิ่งที่น่าเสียดาย ประเทศเราพัฒนาการเรื่องกระบวนการทำฝนได้ตามต้องการถึงขนาดนี้แล้ว แต่คนไทยเรายังไม่รู้จักวิธีเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอ  หรือจะต้องรอให้พ่อต้องทรงเหนื่อยอีกหรือ
แหล่งข้อมูล  :  คอลัมน์ชักธงรบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
โดย  : สามเณรวิทยา  วรรณจำปี  นักเรียนชั้น  ม. ๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น